วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สาเหตุน้ำท่วมปราจีนบุรีในปี 56



การเมืองเรื่องน้ำท่วม “ไอ้โม่ง” สั่งเปิด-ปิดประตูน้ำ!?!
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น










เมื่อเรื่อง “การผันน้ำ” ไม่ใช่แค่เรื่องการวางแผนและจัดการเพียงอย่างเดียว แต่มี “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้อง สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จึงน่าเป็นห่วงไม่ต่างไปจากปีก่อนๆ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าจังหวัดไหน-พื้นที่ใดจะท่วมมั้ย ก็ขึ้นอยู่กับว่า “อำนาจ” อยู่ในมือใคร และใครคือ “ไอ้โม่ง” ที่สั่งการนายประตูให้เปิดหรือปิด
      
       

      
       คุมประตู-คุมอำนาจ
        “ของแบบนี้มันขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจสั่งการ เขาก็สั่งให้น้ำมันไปทางนู้นทางนี้ ให้มันหันซ้ายหันขวา ปีนึงก็ให้หันขวาไปซีกตะวันตก ปีนี้ก็บอกให้หันซ้ายเข้ามาทางตะวันออก ถามว่าปล่อยให้น้ำท่วมมันจะดีได้ยังไง ก็คิดดูถ้าน้ำไม่ท่วมที่ไหนเลย งบประมาณที่จะเอามาจัดจ้างการบริหารน้ำ 3.5 แสนล้านก็ตกไป เดี๋ยวนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นวิกฤตที่เราสร้างขึ้น เพื่อจะหาโอกาสจะวิกฤตที่มันเกิดทั้งนั้นแหละคุณไม่ชอบเหรอควบคุมคนนั้นคนนี้ได้” ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์ นักธรรมชาติวิทยา อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เอาไว้อย่างตรงไปตรงมา หลังเสวนา “วิชาอะไร #38 ตอน ใครทำน้ำท่วม” ที่จัดขึ้น
       

        “จริงๆ แล้วปีนี้ น้ำมันน้อยนะ น้ำไม่ได้เยอะ แต่เริ่มท่วมแล้ว ส่วนสาเหตุที่ท่วมก็เพราะเขาไม่ยอมให้น้ำไหลไปตามปกติ ปิดประตูเอาไว้ มันก็เลยท่วมเฉพาะจุด ทีนี้พอทางจังหวัดนู้นปิด ทางจังหวัดนี้ก็ปิดบ้าง น้ำมันก็เลยไม่รู้จะไหลไปทางไหน แต่ถ้าเราเปิดประตู้น้ำ ให้น้ำมันอยู่อย่างอิสระเหมือนเดิม เชื่อมั้ยว่าปริมาณน้ำ ณ วันนี้ที่เราบอกว่าน้ำท่วมๆ มันจะสูงแค่ 20 ซม.จากพื้น
       

        ง่ายๆ ลองกลับไปเทียบปีแห่งความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ 2554 ที่เห็นว่าท่วมหนักจนแทบรับไม่ไหว แท้จริงแล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นเลย ถ้านายประตูน้ำรู้จักกักน้ำเมื่อควรกักและปล่อยในเวลาที่เหมาะสม “พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามัน 2 แสนกว่าไร่ แล้วปริมาณน้ำมันมีแค่ไม่กี่หมื่นลูกบาศก์เมตรเอง ถ้าปล่อยน้ำให้กระจายทั่ว น้ำก็จะสูงแค่นิดเดียว” หลักฐานเพิ่งปรากฏให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้เอง ยกตัวอย่างที่กบินทร์บุรี น้ำท่วมเพราะไม่ยอมเปิดประตูระบายตั้งแต่แรก
       

        “ที่กบินทร์บุรี น้ำท่วมเป็นปกติ แต่รอบนี้ไม่ปกติ ชั้นสองก็โดนท่วม ชาวกบินทร์ฯ ก็สำรวจกันว่าทำไม เกิดอะไรขึ้น ไปพบว่าผู้ว่าฯ ปิดประตูน้ำเอาไว้ ไม่ให้น้ำไหลออก ก็เลยไปประท้วงกันกลางถนน ผู้ว่าฯ มา บอกจังหวัดฉันอย่ามาประท้วง ถ้าประท้วงไม่ต้องมาพูดกัน แต่กรรมมันตามมาเร็วมาก ผู้ว่าฯ กลับไม่ทราบว่าถึงบ้านหรือยัง คันดินพังไป 50 เมตร น้ำตู้มเดียวถึงศาลากลางเลย ถ้าปล่อยน้ำให้ไหลตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันไม่มีผลประโยชน์ต่อใคร มันควบคุมตัวมันเองเพื่อทุกคน แต่พอเราสร้างเขื่อน มีประตูน้ำขึ้นมา มันก็เกิดการควบคุมเพื่อบางคน ทุกวันนี้เราสร้างทุกอย่างขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะคน นั่นแหละคือปัญหา
      
       

      
       “การเมือง” เรื่องน้ำ
        สอดคล้องกับมุมมองของ หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่มองประเด็นการจัดการน้ำว่าเป็นการเมืองมาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
       

        “ที่เห็นได้ชัดที่สุดตอนนี้คือภาคตะวันออก การเมืองชัดเจนมาก เพราะในช่วงนั้นไม่มีการเปิดประตูน้ำ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ต้องปิด ชาวบ้านเองก็อยากให้เปิด เพราะข้าวที่ปลูกไว้เป็นข้าวกลางลอยมันไม่เสียหาย เมื่อน้ำท่วมมันจะค่อยๆ ขยับขึ้นเองได้ แต่ที่มันเสียหายมากก็เพราะไม่มีการเปิดประตูแล้วน้ำมันล้นจนตลิ่งพัง ความเสียหายก็มากกว่าเปิดประตูน้ำแบบปกติ”
       

        ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ต่างไปจาก “ตัวประกันเพื่อให้เกิดโครงการสร้างเขื่อน” ประธานมูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ให้คิด “ทำไมเรื่องบางเรื่องถึงสั่งการโดยที่ยังไม่มีอะไร บางเรื่องยังไม่ทันไร ทำไมเสนอแล้วแม้แต่น้ำท่วมกบินทร์บุรี-ลาดยาว ก็มีการยกประเด็นสร้างเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมา ทั้งๆ ที่ลาดยาวถ้ามีการเปิดประตูน้ำ ดูการขุดลอกคูคลอง น้ำท่วมก็อาจจะหาย มันเหมือนเอาวิธีการบริหารน้ำมาอ้าง เมื่อนักการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีสั่งการแล้ว คำสั่งแบบนี้ผมไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร แต่รู้สึกว่ามันไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน”
       

        การเมืองอีกประการหนึ่งที่ทำให้การจัดการน้ำล้มเหลวมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดจากความผิดพลาดของ“สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.)” ที่ใช้ระบบสั่งการแบบ Single Command คือส่วนกลางมีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการ ส่งผลให้ท้องถิ่นไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เอง
       

        “พอเกิดปัญหา หลายส่วนไม่กล้าเปิดประตูน้ำ ต้องรอให้ Single Command มาสั่งการ ผมว่านี่เป็นการบริหารงานที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ตอนนี้ต้องรอรองนายกฯ ซึ่งก็แสดงท่าทีไม่รู้ว่าเรามีเครื่องมืออะไรบ้าง ควรปล่อยน้ำช่วงไหน บุคลากรก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ
       
       ผมว่ากบอ.แสดงฝีมือหน่อย ไม่ใช่ให้สัมภาษณ์แบบปลอบใจไปวันๆ ต้องมีการเตือนภัยล่วงหน้า ตอนนี้ท่วมแล้วน้ำจะไปไหน? ไปถึงในกี่วัน? ที่เห็นตอนนี้มีแต่ให้สร้างเขื่อนอย่างเดียว แต่วิธีการแบบธรรมชาติเดิมไม่เคยสนใจ ไม่เคยมานั่งเสวนากับชาวบ้านเลย มีแต่จะตั้งโครงการที่มีงบประมาณมากเท่านั้น ไม่มีการวางแผนด้วยซ้ำว่า สาเหตุน้ำท่วมมันมาจากไหน? แนวคิด 3 แสน 5 หมื่นล้านมันคงไม่ได้ผล มันควรมีการวางแผนให้สอดคล้องกับระบบธรรมชาติและประชาชน ไม่ใช่เอาเงินมาตั้งแล้วเอาโครงการมาใส่
       

        กล้าพูดเลยว่ารัฐบาลล้าหลังมากเรื่องการจัดการน้ำ คิดแต่วิธีจัดการแบบเดิมๆ วางแผนตามเส้นทางน้ำเดิมทั้งที่ปีนี้มันเปลี่ยนทิศไปแล้ว
       

        “เมื่อปี 54 น้ำท่วมจากน้ำเหนือ แต่มาปีนี้น้ำมันมาจากทางทิศตะวันออก แผนการเดิมที่เตรียมไว้จึงใช้ไม่ได้ผลเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแล้ว แต่การทำงานแบบราชการมันก็ทำให้ไม่สามารถจัดการน้ำได้อย่างทันท่วงที”
       

        สุดท้ายก็คิดวิธีกู้หน้า-แก้สถานการณ์ได้ทางออกเดียวคือ “สร้างเขื่อน” คิดว่าจะได้ผล แต่ความจริงแล้วกลับยิ่งส่งให้ผังเมืองเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดปัญหาตามมา เมื่อพื้นที่ส่วนนิคมอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น เข้าไปสร้างเพิ่มขึ้นในส่วนของพื้นที่นาซึ่งเคยเป็นที่รับน้ำ สร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ส่งผลให้น้ำมีการไหลที่เปลี่ยนทิศทางไป
       

        “พอทิศทางการไหลของน้ำมันเปลี่ยน ถึงปริมาณน้ำจะมาเท่าเดิม แต่สิ่งกีดขวางทางน้ำมันมากขึ้น สถานการณ์หลายๆ อย่างมันจะยิ่งแย่กว่าเดิมอีก”
      
       

      
       ผู้จัดการ (ผลประโยชน์) ประเทศ?
        ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำคือ ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ประกาศว่าจะจัดการกับน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.อุทัยธานี โดยจัดให้ทำ "ทางน้ำหลาก (Flood Way)" ขึ้นมา เพื่อผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 1,500 ลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันตก จำนวน 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนฝั่งตะวันออกจะผันน้ำออกทางแม่น้ำบางปะกง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มองว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนโดยใช้เวลาสร้างทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ปี ส่วนเขื่อนแม่วงก์ หากจะมีการก่อสร้าง ย้ำว่าชาวบ้านจะได้รับผลประโยชน์มาเป็นอันดับหนึ่ง
       

        คงต้องรอดูกันต่อไปว่าเหตุผลที่ให้ไว้จะเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ของใครอีกหรือเปล่า แต่หากมองในมุมนักธรรมชาติวิทยาแล้ว ผศ.ยงยุทธ ก็ขอยืนยันว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าปล่อยให้ธรรมชาติจัดการตัวของมันเอง โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเขื่อนที่จะมองอย่างไรก็ไม่เห็นคำว่า “คุ้มค่า” แม้แต่นิดเดียว
       

        “ยิ่งการสร้างเขื่อนทุกวันนี้ชอบอ้างว่าต้องการสร้างให้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ นอกจากกักน้ำได้ ต้องผลิตไฟฟ้าได้ เขาอ้างว่ามันคุ้ม แต่ถ้าคำนวณเป็นตัวเลขจริงๆ จะเห็นว่าเงินลงทุนสร้างเขื่อนมันมหาศาลแค่ไหน ไฟฟ้าจากเขื่อนก็ปั่นไม่ได้ตลอด ซึ่งความคิดแบบนี้ถือเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ได้คอร์รัปชันให้เห็นไปตัวเงิน แต่ถือเป็นการคอร์รัปชันน้ำออกมาจากธรรมชาติ ออกมาจากสิ่งมีชีวิต ด้วยความคิดที่ว่าสิ่งที่ฉันทำถูกต้อง มันเป็นสิทธิของฉัน ผมเรียกว่าสิ่งเหล่านี้เป็น Human Wrong คือมันเป็น Human Right เฉพาะกับตัวคนได้ผลประโยชน์
       

        ความจริงที่ควรรู้ไว้คือ เขื่อนเป็นส่วนเกินที่ทำลายระบบทรัพยากรอย่างมหาศาล “โดยธรรมชาติของน้ำแล้ว น้ำจะไหลมาจากที่สูง มารวมตัวกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง เกิดเป็นลำห้วย พอน้ำล้นมาก น้ำก็ควงสะบัดข้ามตลิ่ง ลงไปอยู่ในที่ลุ่ม กลายเป็นบึงเป็นหนอง บึงและหนองเหล่านี้เองที่ทำให้คนสมัยก่อนมีน้ำให้กินให้ใช้ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จนทั่วโลกตะลึง ต้องตั้งคณะกรรมการพื้นที่ลุ่มน้ำเข้ามาศึกษาลักษณะหนองและบึงในบ้านเรา”
       

        ชาวบ้านเองก็ได้ขุดบ่อน้ำตื้นมาจากหนองและบึง พอหน้าแล้ง น้ำลด หนองและบึงก็แห้งและมีหญ้าเกิดขึ้นมาแทน กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ แต่พอมาสร้างเขื่อนกั้นไว้ปุ๊บ พื้นที่ด้านล่างเขื่อนก็ตายหมด น้ำเดินทางไปไม่ถึง บึง-หนองที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็แห้งแล้งตลอดปี ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรที่มีค่ายิ่งในธรรมชาติ เป็นความเสียหายอย่างมหาศาล
       

        “พื้นที่ที่เคยเป็นบึงเป็นหนอง เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์กลายเป็นบ้านจัดสรร เป็นนิคมอุตสาหกรรมไปหมดแล้ว เพราะเขามองเห็นว่าน่าจะสร้างกำไรได้มากกว่า ผลลัพธ์ก็คือพอช่วงน้ำขึ้น จุดนั้นก็กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ อย่าง แฟลชปลาทอง ขึ้นชื่อว่าท่วมกันแหลกลาญ พอน้ำท่วม เราก็ออกมาโวย แล้วก็ลุกขึ้นมาจัดแจง สร้างเขื่อนกักทุกบริเวณ พอกักไว้ทุกที่ ถามว่าจะให้มันอยู่ตรงไหน มันก็ต้องหาทางเข้าชุมชน”
       

        เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย อาจารย์จึงขออธิบายพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำฝากเอาไว้เสียหน่อย คือต้องรู้จักเข้าใจระบบของธรรมชาติก่อน
       

        “การจัดการธรรมชาติ เขามีหลักง่ายๆ คือ มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน เมื่อมีภัย ทุกชีวิตก็ได้รับภัยเหมือนกัน เมื่อมีความสุข ทุกชีวิตก็สุขถ้วนหน้า ไม่มีใครได้มากกว่าใคร เลยทำให้ในอดีตไม่มีใครโทษใคร ไม่มีเดินขบวน ไม่มีม็อบไปรื้อคันดินกั้นน้ำ เพราะทุกคนเสมอกันหมด
       

        เราจะทำอะไร เราต้องเข้าใจระบบของธรรมชาติ แล้วก็ดูว่าทำยังไงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มันมีอยู่ 2 วิธี คือเสริมประสิทธิภาพให้ทำงานได้ดีขึ้น หรือปรับตัวเราเองให้เข้ากับการทำงานของธรรมชาติ ดีที่สุดคือปรับตัวเราเอง แต่ถ้าเรายังสร้างๆๆๆ เขื่อนอยู่แบบนี้ กั้นน้ำไปเรื่อยๆ ไอ้ที่เคยมองว่า 5 เมตรก็ท่วมสูงแล้ว เดี๋ยวต่อไปก็อาจจะไม่พ้น
       

        ตอนนี้เราก็ยังคาดเดาสถานการณ์อะไรไม่ได้ ในเมื่อทำอะไรตามอำเภอใจ แล้วเดี๋ยวคอยดู ปีนี้มันจะไม่ท่วมอย่างเดียว มันจะแล้งด้วย เพราะปกติเราจะหน่วงน้ำเอาไว้ แต่นี่เราผลักน้ำออกไปทะเลหมด พอฝนหมดทำไงล่ะ ก็แล้งสิ ต้องวิ่งแจกน้ำกัน แล้วภัยแล้งก็เพิ่มจังหวัดขึ้นมาทุกที ตอนนี้ก็เกือบจะ 73 จังหวัดอยู่แล้ว” อาจารย์พูดไปยิ้มไปอย่างปลงๆ ก่อนฝากปิดท้ายเอาไว้สั้นๆ
       

        “ต้องบอกว่า ทุกวันนี้เราไม่มีระบบผู้ปกครองประเทศ มีแต่ผู้จัดการประเทศ จัดการว่าตรงไหนฉันให้ได้ประโยชน์ และตรงไหน ฉันจะเสียประโยชน์”
      
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

อนุวัตจัดมาเล่า - ลงพื้นที่น้ำท่วมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี


ดาริน คล่องอักขระ เหตุน้ำท่วมปราจีนบุรี - ผ่าแผน กบอ. ประชาสัมพันธ์หรื



ดาริน คล่องอักขระ เผยสาเหตุน้ำท่วมปราจีนบุรีในปี 56




เช้าวันนี้ (8 ต.ค.2556) น้ำได้ไหลเข้าท่วมบริเวณนิคมอมตะนคร อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยเฉพาะบริเวณเฟส 6 และ 8 มีน้ำขึ้นมาท่วมมากสุด ขณะที่ฝนยังตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถสัญจรได้ทางเดียว ส่งผลให้การจราจรภายในนิคมติดขัดอย่างมาก


น้ำท่วมบริเวณทางเข้าและเฟส 7 ของนิคมอมตะนคร อ.เมือง จ.ชลบุรี



ไม่มีความคิดเห็น: